ระเบียบว่าด้วยบัตรประจำตัว
ระเบียบว่าด้วยบัตรประจำตัว
ระเบียบกองทัพบกว่าด้วยบัตรประจำตัวของกำลังพลสำรอง พ.ศ.๒๕๔๗
-----------------------------
เพื่อ ให้การดำเนินการเรื่องบัตรประจำตัวของกำลังพลสำรองประเภทต่าง ๆ ของกองทัพบก เป็นไปด้วยความถูกต้อง
เหมาะสมและสอดคล้องกับการพัฒนาระบบกำลังสำรอง จึงวางระเบียบไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกองทัพบกว่าด้วยบัตรประจำตัวของกำลังพลสำรอง พ.ศ.๒๕๔๗”
ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ข้อ ๓ ให้ยกเลิก
๓.๑ ระเบียบกองทัพบก ว่าด้วยบัตรประจำตัวของกำลังพลสำรอง พ.ศ.๒๕๓๓
๓.๒ ระเบียบกองทัพบก ว่าด้วยบัตรประจำตัวของกำลังพลสำรอง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๔
ข้อ ๔ ในระเบียบนี้
๔. ๑ กำลังพลสำรอง หมายถึง นายทหารสัญญาบัตรกองหนุน , นายทหารสัญญาบัตรนอกราชการ, นายทหารสัญญาบัตรนอกกอง,
นายทหารประทวนกองหนุน , ทหารกองหนุน ประเภทที่ ๑, ทหารกองหนุน ประเภทที่ ๒ และทหารกองเกิน
๔. ๑.๑ นายทหารสัญญาบัตรกองหนุน หมายถึง นายทหารสัญญาบัตร ซึ่งไม่มีตำแหน่งราชการประจำในกระทรวงกลาโหม และ
กระทรวงกลาโหมสั่งให้เป็นนายทหารสัญญาบัตรประเภทนี้
๔. ๑.๒ นายทหารสัญญาบัตรนอกราชการ หมายถึง นายทหารสัญญาบัตร ซึ่งไม่มีตำแหน่งราชการประจำในกระทรวงกลาโหม
และกระทรวงกลาโหมสั่งให้เป็นนายทหารสัญญาบัตรประเภทนี้ โดยมีอายุพ้นเกณฑ์เป็นนายทหารสัญญาบัตรกองหนุน
๔.๑.๓ นายทหารสัญญาบัตรนอกกอง หมายถึง นายทหารสัญญาบัตร ซึ่งไม่มีตำแหน่งราชการประจำในกระทรวงกลาโหม และ
กระทรวงกลาโหมสั่งให้เป็นนายทหารสัญญาบัตรประเภทนี้ (โอนไปรับราชการในกระทรวงอื่น)
๔.๑.๔ นายทหารประทวนกองหนุน หมายถึง นายทหารประทวนซึ่งไม่มีตำแหน่งประจำในกระทรวงกลาโหม และกองทัพบกสั่งให้เป็น
นายทหารประทวนกองหนุน ประกอบด้วย
๔.๑.๔.๑ นายทหารประทวนที่ปลดออกจากประจำการ
๔. ๑.๔.๒ ผู้ซึ่งสำเร็จการฝึกวิชาทหาร ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร และได้ถูกนำตัวขึ้นทะเบียนกอง
ประจำการและนำปลดเป็นทหารกองหนุนแล้ว จะได้รับการแต่งตั้งยศให้เป็นนายทหารประทวนกองหนุน
๔.๑.๕ ทหารกองหนุนประเภทที่ ๑ หมายถึง ทหารที่ปลดจากกองประจำการ โดยรับราชการในกองประจำการจนครบกำหนด หรือทหารกองเกินซึ่ง สำเร็จการฝึกวิชาทหารตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการฝึก วิชาทหารและได้ขึ้นทะเบียนกองประจำการแล้วปลด เป็นกองหนุน โดยอยู่ในชั้นกองหนุนต่าง ๆ ดังนี้.- - กองหนุนชั้นที่ ๑ ๗ ปี - กองหนุนชั้นที่ ๒ ๑๐ ปี - กองหนุนชั้นที่ ๓ ๖ ปี
๔. ๒ ตพ.๒ หมายถึง บัญชีนายทหารประทวนกองหนุน บัญชี ส.ต. หรือ จ.ต. (กองประจำการ) กองหนุน และพลทหารกองหนุน บัญชีทหารกองเกินซึ่งได้รับการฝึกแล้ว หรือบัญชีทหารกองหนุนประเภทที่ ๒
๔.๓ ตพ.๓ หมายถึง บัญชีนายทหารสัญญาบัตรกองหนุน บัญชีนายทหารสัญญาบัตรนอกราชการ หรือบัญชีนายทหารสัญญาบัตรนอกกอง
๔.๔ บัญชีบรรจุกำลัง (ตพ.๕) หมายถึง บัญชีแสดงรายชื่อกำลังประจำการ กำลังพลประจำการเสริม และกำลังพลสำรอง ซึ่งบรรจุไว้ตามตำแหน่งหน้าที่ตามอัตราการจัดของหน่วย
ข้อ ๕ กำลังพลสำรองที่มีสิทธิมีบัตรประจำตัวกำลังพลสำรอง ประกอบด้วย
๕.๑กำลังพลสำรองที่เข้ารับการเรียกพลเพื่อตรวจสอบ
๕.๒ กำลังพลสำรองที่เข้ารับการเรียกพลเพื่อฝึกวิชาทหาร
๕.๓ กำลังพลสำรองที่บรรจุอยู่ในบัญชีเตรียมพล (ตพ.๒, ตพ.๓ และ ตพ.๕) ที่ร้องขอ
ข้อ ๖ บัตรประจำตัวของกำลังพลสำรอง ทำด้วยแผ่นกระดาษแข็งสีเขียว รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีขนาด ๖ x ๙.๕ เซนติเมตร มุมทั้งสี่มนเล็กน้อยพองาม สำหรับรายการในบัตรประจำตัว ให้เป็นไปตามแบบที่กำหนดท้ายระเบียบนี้
ข้อ ๗ รูปถ่ายสำหรับติดบัตรประจำตัว ให้ใช้รูปถ่ายสี มีขนาด ๓ x ๔ เซนติเมตร ครึ่งตัว หน้าตรง ไม่สวมหมวก และแต่งเครื่องแบบปกติหรือเครื่องแบบปกติกากี แกมเขียว คอพับ เว้นผ้าผูกคอ หรือเครื่องแบบฝึก โดยใช้สีพื้นหลังรูปถ่ายดังนี้
๗.๑ พื้นสีเลือดหมูสำหรับนายทหารสัญญาบัตรกองหนุน
๗.๒ พื้นสีเหลืองสำหรับนายทหารประทวนกองหนุน
๗.๓ พื้นสีฟ้าสำหรับสิบตรี (กองประจำการ) กองหนุนหรือพลทหารกองหนุน
ข้อ ๘ ผู้มีอำนาจออกบัตรประจำตัว
๘. ๑ บัตรประจำตัวนายทหารสัญญาบัตรกองหนุน ให้ผู้บังคับหน่วยรับการบรรจุกำลังระดับผู้บัญชาการกองพลหรือเทียบเท่าขึ้น ไป รองหรือผู้ช่วยผู้บังคับ หน่วยนั้น ๆ เป็นผู้มีอำนาจออกบัตรประจำตัว
๘. ๒ บัตรประจำตัวนายทหารประทวนกองหนุน สิบตรีกองประจำการกองหนุน และพลทหารกองหนุน ให้ผู้บังคับหน่วยรับการบรรจุกำลังระดับผู้บังคับกองพันหรือเทียบเท่าขึ้นไป รองหรือผู้ช่วยผู้บังคับหน่วยนั้น ๆ เป็นผู้มีอำนาจออกบัตรประจำตัว
๘. ๓ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบก รองผู้บัญชาการ หรือ ผู้ที่ได้รับมอบอำนาจ ผู้บังคับการจังหวัดทหารบก รองผู้บังคับการ หรือผู้ที่ได้รับมอบ อำนาจ เป็นผู้มีอำนาจออกบัตรประจำตัวให้กับกำลังพลสำรองทุกประเภท ที่มีภูมิลำเนาทหาร หรือมีรายชื่อตามบัญชีเตรียมพล(ตพ.๒,๓) สำหรับควบคุมกำลังพลสำรองในพื้นที่
๘.๔ ผู้บัญชาการโรงเรียนการกำลังสำรอง รองผู้บัญชาการ หรือ ผู้ที่ได้รับมอบอำนาจ เป็นผู้มีอำนาจออกบัตรประจำตัวให้กับกำลังพลสำรองที่เข้ารับการเรียกพลเพื่อ ฝึกวิชาทหาร หรือเข้ารับการศึกษาในหลักสูตรตามแนวทางรับราชการทหารของกำลังพลสำรอง ณ โรงเรียนการกำลังสำรอง ศูนย์การกำลังสำรอง
ข้อ ๙ การขอมีบัตรประจำตัว ให้ผู้ขอยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวต่อผู้ที่มีอำนาจ ตามข้อ ๘.๑ – ๘.๔ พร้อมด้วยบัตรประจำตัว ๑ ฉบับ และเอกสารประกอบดังนี้
๙.๑ คำขอมีบัตรประจำตัวของกำลังพลสำรองของผู้ขอมีบัตร
๙.๒ บัตรประจำตัวติดรูปถ่ายของผู้ขอมีบัตรประจำตัว ๑ ฉบับ
๙.๓ สำเนาบัตรประจำตัวติดรูปถ่ายของผู้ขอมีบัตรประจำตัว ๑ ฉบับ
๙.๔ บัญชีรายชื่อผู้ถือบัตรประจำตัวของกำลังพลสำรอง ๑ ชุด
ข้อ ๑๐ บัตรประจำตัวตามระเบียบนี้ ให้ใช้ได้ ๕ ปี นับตั้งแต่วันออกบัตรประจำตัว เว้นแต่ ในกรณีดังต่อไปนี้ ให้ผู้ถือบัตรประจำตัวขอมีบัตรประจำตัวใหม่ได้ก่อนครบ ๕ ปี โดยรายงานขอรับบัตรประจำตัวใหม่ภายใน ๓๐ วัน
๑๐.๑ ได้เลื่อนยศทหารหรือได้รับยศทหาร
๑๐.๒ เปลี่ยนชื่อตัวหรือชื่อสกุล
๑๐.๓ สังกัดของผู้ถือบัตรได้เปลี่ยนแปลงใหม่
๑๐.๔ บัตรประจำตัวชำรุดในสาระสำคัญ
ข้อ ๑๑ ห้ามมีบัตรประจำตัวตามระเบียบนี้เกิน ๑ ฉบับ ในขณะเดียวกัน
ข้อ ๑๒ ผู้ถือบัตรประจำตัว เมื่อได้รับบัตรประจำตัวใหม่แล้วต้องคืนบัตรประจำตัวฉบับเก่า
ข้อ ๑๓ เมื่อบัตรประจำตัวสูญหายด้วยประการใด ๆ ผู้ถือบัตรต้องรายงานผู้มีอำนาจออกบัตรประจำตัวทราบภายใน ๑๕ วัน นับตั้งแต่วันทราบเหตุ เพื่อดำเนินการ ออกบัตรประจำตัวให้ใหม่
ข้อ ๑๔ ผู้ใดทำบัตรประจำตัวสูญหายต้องเสียค่าบัตรใหม่ ฉบับละ ๕๐ บาท (ห้าสิบบาทถ้วน)
ข้อ ๑๕ ถ้าผู้ได้รับบัตรประจำตัวตามระเบียบนี้ เมื่อถูกคัดรายชื่อออกจากบัญชีบรรจุกำลังของหน่วย หรือพ้นสภาพการเป็นกำลังพลสำรอง ให้เป็นอันหมดสิทธิที่จะใช้บัตรประจำตัวนั้นต่อไป และให้ส่วนราชการต้นสังกัดเรียกบัตรประจำตัวนั้นคืน เพื่อทำลายเสีย
ข้อ ๑๖ ให้กรมสารบรรณทหารบก ดำเนินการจัดหาบัตรประจำตัว คำขอมีบัตรประจำตัวของกำลังพลสำรอง บัญชีรายชื่อผู้ถือบัตรประจำตัวของกำลังพลสำรอง และสำเนาบัตรประจำตัว ให้กับหน่วยต่าง ๆ ในกองทัพบก ที่เกี่ยวข้องกับกำลังพลสำรอง ตามข้อ ๔ โดยให้หน่วยบัญชาการกำลังสำรอง เป็นผู้เสนอความต้องการและแจกจ่าย
ข้อ ๑๗ บัตรประจำตัวกำลังพลสำรองที่ได้ออกก่อนระเบียบนี้ ให้คงใช้ได้ต่อไปจนถึงวันที่บัตรนั้นหมดอายุ เว้นแต่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะต้องขอรับบัตรประจำตัวใหม่ ตามความในข้อ ๑๐
ข้อ ๑๘ ให้ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการกำลังสำรอง เป็นผู้รักษาการตามระเบียบนี้ และมีอำนาจตีความหรือวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบ รวมทั้งการ แก้ไขและกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมได้ตามความจำเป็น โดยไม่ขัดกับระเบียบนี้
ประกาศ ณ วันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๗
(ลง ชื่อ) พลเอก ชัยสิทธิ์ ชินวัตร
บัญชาการทหารบก